สอบ ก.พ. คือ การสอบความรู้ความสามารถเพื่อคัดเลือกบุคคล เข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการ การสอบ ก.พ. จึงเปรียบเสมือนตัวกลาง ในการเชื่อมระหว่างคนที่สนใจทำงานในส่วนราชการกับหน่วยงานราชการหรือองค์กรภาครัฐ ก.พ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ การดำเนินการจัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาบริหารงานในหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นการคัดเลือกบุคคลให้ได้มาซึ่งความรู้ความสามารถ
วัตถุประสงค์ของการสอบความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) เป็นการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปเพื่อคัดเลือกบุคคล ถือเป็นการสอบที่ใช้ข้อสอบเป็นเครื่องมือวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของผู้สอบ เนื้อหาที่ใช้ในการสอบ ประกอบด้วย วิชาความรู้ความสามารถทั่วไป วิชาภาษาไทย และวิชาภาษาอังกฤษ ในการสอบ ภาค ก. จะมีตัวชี้วัดผลการสอบคัดเลือก แบ่งได้ 3 ตัวชี้วัด คือ
- วัดความสามารถทางด้านความมีเหตุผล (Reasoning Ability)
- วัดความสามารถทางด้านตัวเลข (Numerical Ability)
- วัดความสามารถทางด้านภาษา (Veerbal Ability)
ระดับวุฒิการศึกษาที่รับสมัครสอบ ก.พ.
- ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
- ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
- ระดับวุฒิปริญญาตรี
- ระดับวุฒิปริญญาโท
การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็นกี่ภาค ?
การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
1. ภาค ก คือ การสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไป
สามารถอ่านข้อมูลการสอบภาค ก เพิ่มเติมได้ที่ ข้อสอบ ก.พ 63 ออกอะไรบ้าง
2. ภาค ข คือ การสอบภาคความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
เป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นิติกร, เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยข้อสอบจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน (และผู้สอบต้องนำหนังสือรับรองมายืนยันว่าได้สอบผ่าน ภาค ก. แล้วจึงจะสมัครได้)
- คุณสมบัติผู้สอบ : ต้องสอบผ่าน ภาค ก ก่อน
- ผู้จัดสอบ : หน่วยงานราชการที่เปิดรับสมัคร
3. ภาค ค คือ การสอบสัมภาษณ์
เป็นการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง อาจมีการทดสอบอย่างอื่นเพิ่มก็ได้ เช่น ทดสอบร่างกาย หรือ ทดสอบจิตวิทยา เป็นต้น
- คุณสมบัติผู้สอบ : ผู้เข้าสอบจำเป็นต้องผ่านการสอบ ภาค ก. และ ภาค ข. มาก่อน
- ผู้จัดสอบ : หน่วยงานราชการที่เปิดรับสมัคร